การนำปุ๋ยมาใช้ในการเกษตรเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
ปุ๋ย หมายถึง สารที่ใส่ลงในดินเพื่อให้ปลดปล่อยธาตุอาหารแก่พืช โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม มี 2 ประเภทคือ
1. ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการเน่าเปื่อยผุพังของซากสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด เมื่อใส่ในดินซากสิ่งมีชีวิตจะค่อยๆสลายตัวและปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืช แต่มีข้อเสียคือ มีธาตุอาหารน้อยรวมทั้งมีปริมาณและสัดส่วนไม่แน่นอน
2. ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากการผลิตหรือสังเคราะห์จากแร่ธาตุต่างๆ หรือเป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด ซึ่งจะมีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม สามารถปลดปล่อยให้แก่พืชได้ง่ายและเร็ว มี 2 ประเภทคือ
2.1 ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย เป็นสารประกอบที่มีธาตุอาหารของพืชอยู่หนึ่งหรือสองธาตุ และมีปริมาณธาตุอาหารคงที่ เช่น ปุ๋ยยูเรีย และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต
2.2 ปุ๋ยผสม เป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำปุ๋ยเดี่ยวแต่ละชนิดมาผสมกันเพื่อให้ได้สัดส่วนของธาตุอาหาร N P และ K ตามต้องการ เช่น ปุ๋ยสูตร 10 : 15 : 20 ประกอบด้วย N 10 ส่วน P 15 ส่วน K 20 ส่วน และมีตัวเติมอีก 55 ส่วน ให้ครบ 100 ส่วน
นอกจากนี้ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางชนิดอาจมีธาตุอาหารของพืชที่มีความสำคัญในลำดับรอง ซึ่งพืชต้องการในปริมาณน้อย ได้แก่ ธาตุแคลเซียม กำมะถัน แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส และทองแดง ผสมอยู่ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น